วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เปรียบเทียบมุมมองวัยเยาว์ผ่านวรรณกรรมติสตู นักปลูกต้นไม้ และวรรณกรรมเจ้าชายน้อย

โดย เจลดา เอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก มศว



จงเติบโตขึ้นโดยยังคงไว้ซึ่งสายตาอย่างเด็กไร้เดียงสา
(เปรียบเทียบมุมมองวัยเยาว์ผ่านวรรณกรรมติสตู นักปลูกต้นไม้ และวรรณกรรมเจ้าชายน้อย)

วรรณกรรมเยาวชน ติสตู นักปลูกต้นไม้ โดยโมรีส ดรูอง และ เจ้าชายน้อย โดย อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี วรรณกรรมสัญชาติฝรั่งเศสทั้งสองเล่มนี้แสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงมุมมองความคิดที่ใสสะอาดของเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ควรรีบตัดสิน และยังสะท้อนมุมมองความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีผู้ใดสังเกตเห็นอีกด้วย
เมื่อเปรียบเทียบวรรณกรรมทั้งสองเข้าด้วยกันแล้ว ทำให้พบว่า บางครั้งวิธีการมองโลกแสนจะซับซ้อนใบนี้ในแบบที่เรียบง่ายของเด็ก ๆ อาจเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรเปิดใจรับ และเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ติสตู นักปลูกต้นไม้          เป็นเรื่องราวของเด็กชายวัยแปดปี นามว่า ติสตู  เขาเป็นเด็กที่ไม่เหมือนใคร ประการที่หนึ่งเพราะ เขามีนิ้วหัวแม่มือสีเขียว ซึ่งทำให้เขาสามารถปลูกต้นไม้และดอกไม้ให้เจริญงอกงามได้ภายในชั่วข้ามคืน และประการที่สองเพราะ เขามีมุมมองความคิดที่ไม่โอนอ่อนไปตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ป้อนให้(ความคิดสำร็จรูป) ความพิเศษทั้งสองประการนี้ทำให้ เมื่อเขาพบเหตุการณ์ หรือสถานที่ที่ไม่ดีงาม เขาจึงเชื่อความคิดของตัวเอง และใช้นิ้วหัวแม่มือสีเขียวบรรเทาสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้นด้วยต้นไม้ของเขา อย่างไรก็ตามแม้สิ่งที่ติสตูทำจะแก้ไขปัญหาได้อย่างที่ผู้ใหญ่ไม่อาจแก้ได้ แต่ผู้ใหญ่บางคนกลับไม่พอใจ ท้ายที่สุดติสตูก็ได้พบสถานที่ที่เหมาะกับความคิดที่แสนบริสุทธิ์ของเขา
เจ้าชายน้อย        เป็นเรื่องราวของเจ้าชายน้อย ผู้อาศัยอยู่บนดวงดาวบีหกสองหนึ่งเพียงลำพังกับดอกกุหลาบและภูเขาไฟสามลูก เมื่อเจ้าชายน้อยเกิดไม่เข้าใจกันกับดอกกุหลาบจนกลายเป็นความสับสนและอึดอัด เขาจึงเลือกเดินทาง ออกจากดาวที่อยู่อาศัย ตลอดการเดินทางผ่านดวงดาวต่างๆ เจ้าชายน้อยได้เรียนรู้และรับรู้ถึงมุมมองและความคิดที่แปลกประหลาดของผู้ใหญ่ซึ่งบางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจ และบางครั้งเขาก็รู้สึกอึดอัด จนเมื่อมาถึงดาวโลกเขาได้พบกับงู, นักบิน และสุนัจจิ้งจอกที่ทำให้เขาเข้าใจ ว่าเขาควรจะทำอะไรต่อไปและโตขึ้น
ทั้งติสตูและเจ้าชายน้อยต่างเป็นตัวละครหลักที่เป็นเด็กซึ่งอยู่ท่ามกลางตัวละครผู้ใหญ่ และสังคมของผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้อ่านจะได้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่อย่างชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้มุมมองของเด็กและผู้ใหญ่แตกต่างกันคือ ประสบการณ์ เด็กที่ประสบการณ์น้อย ยังไม่เคยเจอเรื่องเข้ามากระทบใจมากมาย พวกเขาจึงมีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างสิ่งดี-สิ่งไม่ดี และยังคงเปี่ยมด้วยความหวัง แต่เมื่อโตขึ้นเส้นแบ่งเหล่านั้นก็เริ่มไม่ชัดเจนและมีข้อยกเว้น ส่วนความหวังก็ถูกแทนที่ด้วยความเป็นจริงในชีวิต
ในวรรณกรรม ติสตู เป็นเด็กชายที่สมบรูณ์พูนสุข อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยกับพ่อแม่ที่คอยดูแลเขา ชีวิตจึงไม่เคยได้รับความยากลำบากและยังไม่เคยออกไปเห็นโลกกว้าง ส่วนเจ้าชายน้อย ดวงดาวที่เขาอาศัยก็ไม่มีผู้อื่นอยู่เลย นอกจากตัวเขา, ดอกกุหลาบ และภูเขาไฟสามลูกเท่านั้น ทั้งคู่จึงเปรียบเสมือนผ้าขาวที่ยังไม่เคยพบเจอสีใด ๆ ดังนั้นความคิดเห็นของพวกเขา จึงเป็นความคิดที่ถูกมองผ่านสายตาของเด็กที่ยังไม่เดียงสาจริง ๆ
สำหรับติสตู เขาเป็นเด็กฉลาด แต่เมื่อเริ่มเข้าเรียน เขาก็พบว่า โรงเรียนไม่เหมาะกับเขา และไม่นานเขาก็ถูกเชิญให้ออกด้วยเหตุผลที่ว่า คุณครับ ลูกของคุณไม่เหมือนเด็กอื่นๆ เราไม่อาจรับเขาไว้ที่โรงเรียนได้(ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 39) เพียงเพราะติสตูไม่ได้ชื่นชอบการท่องจำในสิ่งที่ครูบอกเหมือนอย่างเด็กคนอื่น ๆ แต่ผู้ใหญ่ก็ตัดสินเขาไปแล้ว ส่วนหลักเกณฑ์ที่เอามาตัดสินนั้น มันเรียกว่า ความคิดสำเร็จรูป
พวกนั้นไม่รู้สิ่งใดเลย แม้จะทำเป็นรู้ดี...ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไร ผู้ใหญ่ก็มีความคิดสำเร็จรูป...เป็นสิ่งที่ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้นมานานแล้ว...ถ้าคนเราเกิดมาเพื่อกลายเป็นผู้ใหญ่ทั่วๆไปในวันหนึ่งแล้วละก็ ความคิดสำเร็จรูปเหล่านั้นจะฝังอยู่ในหัวเราได้ง่ายดาย (ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 20-22)
จากข้อความข้างต้น ความคิดสำเร็จรูป คือความคิดที่ผู้ใหญ่บัญญัติขึ้นซึ่งเชื่อมั่นว่าถูก และ ใช้ความคิดนั้นต่อเรื่อยมา ทั้งยังส่งต่อมายังลูกหลานนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อติสตูไม่ใช่เด็กอย่างในความคิดสำเร็จรูปของครู เขาจึงไม่อาจเรียนที่โรงเรียนนี้ต่อไปได้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนเรื่องความคิดสำเร็จรูปของผู้ใหญ่ เช่น ในตอนที่ติสตูใช้พลังวิเศษของนิ้วหัวแม่มือสีเขียวแอบปลูกต้นไม้นานาชนิดขึ้นรอบคุก หลังจากนั้นบรรดานักพฤกษศาสตร์ก็แห่กันมาหาสาเหตุการเติบโตของต้นไม้ แต่เมื่อไม่สามารถหาคำตอบได้ สิ่งที่พวกเขาทำคือ  พวกนักพฤกษศาสตร์ร่างคำประกาศขึ้นซึ่งล้วนเป็นภาษาลาติน เพื่อไม่ให้ใครเข้าใจ (ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 75)
ผู้ใหญ่นั้นมีความคิดสำเร็จรูป และไม่เคยคิดฝันเลยว่าอาจมีสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากที่พวกเขารู้จักแล้ว
(ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 97)
สำหรับเด็กที่ไม่ได้ยึดติดกับความคิดสำเร็จรูปอย่างติสตูนั้น เขาไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ใหญ่ต้องพยายามหานิยาม และเหตุผลให้ทุกอย่างด้วย หรืออาจเป็นเพราะสิ่งวิเศษมหัศจรรย์นั้น ไม่ได้อยู่ในความคิดสำเร็จรูปของผู้ใหญ่ก็เป็นได้
ซึ่งความคิดสำเร็จรูปก็ได้ปรากฏในวรรณกรรมเจ้าชายน้อยเช่นกัน ผ่านการบอกเล่าของนักบิน ครั้งเมื่อเขายังเป็นเด็ก เขาวาดรูปงูเหลือมที่กินช้างเข้าไป แต่ผู้ใหญ่กลับมองภาพนั้นเป็นหมวก และบอกกับเขาว่า ควรเลิกยุ่งกับการวาดภาพงูเหลือม...และหันมาสนใจเล่าเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์และไวยกรณ์แทน (เจ้าชายน้อย. อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, หน้า 14)
จากข้อความข้างต้น การสนใจว่าความจริงแล้วเด็ก(นักบิน) วาดรูปอะไร อาจไม่สำคัญเท่าผู้ใหญ่เห็นว่ามันเป็นอะไร และผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กควรทำอะไร
หรือในเหตุการณ์ที่นักดาราศาสตร์ชาวตุรกีผู้ค้นพบดวงดาวบีหกสองหนึ่ง(ดาวของเจ้าชายน้อย)ได้พยายามเสนอการค้นพบนี้แก่สภานักดาราศาสตร์ แต่เพราะเขาสวมเสื้อผ้าที่แปลกประหลาดเกินไปจึงไม่ได้รับการยอมรับจากสภา แต่ในอีก11ปีต่อมา เมื่อนักดาราศาสตร์คนเดิม ได้นำเสนอเรื่องนี้อีกครั้ง โดยคราวนี้เขาแต่งกายตามแบบยุโรป ซึ่งดูสง่าและน่าเชื่อถือ ทุกคนกลับเชื่อเขาอย่างง่ายดาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อนักดาราศาสตร์แต่งกายไม่น่าเชื่อถือทำให้ถูกมองว่าสิ่งที่พูดย่อมไม่เป็นความจริง
หรือจะเป็นอย่างในเหตุการณ์นี้ที่เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อระหว่างวรรณกรรมทั้งสองเรื่อง เมื่อประเทศวาสีและชาติวาตองกำลังเตรียมการจะทำสงครามกัน ติสตูถามคุณตรูนาดิสคนสนิทของคุณพ่อว่า ทำไมทั้งสองฝ่ายจึงทะเลาะกัน และได้คำตอบว่า พวกทำสงครามกันเพื่อแย่งพื้นที่ตรงทะเลทรายและให้เหตุผลต่อว่า
เพราะทะเลทรายนั้นไม่เป็นของใครเลย...พวกเขาอยากเป็นเจ้าของสิ่งที่อยู่ข้างใต้นั้น...พวกเขาอยากได้น้ำมันเพราะน้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นในการทำสงคราม
เมื่อได้รับคำตอบติสตูถึงกับพูดออกมาว่าแหม ช่างโง่เง่าบัดซบจริงๆ
(ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 116-118)
ส่วนเจ้าชายน้อย เมื่อเขาไปถึงดาวของนักดื่ม เจ้าชายน้อยถามนักดื่มว่า ทำไมเขาต้องดื่ม และเขาก็ตอบว่า
เพื่อลืม...ลืมว่าฉันต้องอับอายขายหน้า...
อับอายขายหน้าเรื่องอะไร? เจ้าชายน้อยอยากจะช่วยจึงไต่ถาม
เรื่องที่ต้องดื่ม!”
(เจ้าชายน้อย. อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, หน้า 78)
ต่อมาเจ้าชายน้อยไปเยือนยังดวงดาวของนักธุรกิจซึ่งวุ่นวายอยู่กับคิดคำนวณดวงดาวบนท้องฟ้า และจดมันไว้ในบัญชี เจ้าชายน้อยถามเขาว่า
ทำอย่างไรถึงจะเป็นเจ้าของดวงดาวได้?
มันเป็นของใครล่ะ? นักธุรกิจถามอย่างพิถีพิถัน
ฉันเองก็ไม่รู้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรอกกระมัง
ถ้าเช่นนั้น มันก็เป็นของฉัน เพราะว่าฉันคิดขึ้นก่อน
                                                                                    (เจ้าชายน้อย. อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, หน้า 83)
ซึ่งนักดื่มและนักธุรกิจ ก็ทำให้เจ้าชายน้อยรู้สึกไม่เข้าใจ และอึดอัดจนคิดว่าพวกผู้ใหญ่นี้แปลกจริงๆ และจำต้องจากมา 
เป็นที่น่าสังเกตุ จากบทสนทนาของติสตูกับคุณตรูนาดิส และเจ้าชายน้อยกับนักดื่มและนักธุรกิจ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่มีความคิดสำเร็จรูปที่เชื่อว่าตัวสามารถเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ทั้งยังโลภอยากจะครอบครองมัน (เห็นได้จาก การทำสงครามของประเทศวาสีกับชาติวาตอง และคำตอบของนักธุรกิจ) และผลที่ได้รับก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ออกจะฟังดูงี่เง่าด้วยซ้ำไป (เห็นได้จากเหตุผลการทำสงครามของประเทศวาสีกับชาติวาตอง และเหตุผลที่ต้องดื่มเหล้าของนักดื่ม) ในสายตาของเด็กอย่างติสตูและเจ้าชายน้อย
จากตัวอย่างทั้งหมด จะเห็นได้ว่า หากไม่ได้มองเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านสายตาของติสตูและเจ้าชายน้อย เรื่องพวกนี้คงเป็นเรื่องธรรมดา และมันคงจะดำเนินต่อไปแบบนั้น เพราะนี้คือความคิดสำเร็จรูปของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนมุมมองนั่นเอง
 เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งที่สำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา (เจ้าชายน้อย. อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, หน้า 125) ข้อความนี้ สุนัจจิ้งจอกได้กล่าวสอนเจ้าชายน้อยเอาไว้ ซึ่งอาจบอกได้กว่า เราควรมองให้ลึกไปกว่าสิ่งที่ดวงตาเรามองเห็น และการใช้หัวใจมอง อาจหมายถึงการใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสนั่นเอง ซึ่งการใช้ความรู้สึกสัมผัสอาจจะเป็นไปได้ยากสักหน่อยสำหรับผู้ใหญ่ที่เคยชินแต่การใช้สมองเสียแล้ว
แต่สำหรับเด็กที่ยังใช้ความรู้สึกมากกว่าสมองนั้น การใช้หัวใจมองอาจจะเป็นไปได้มากกว่า อย่างในเหตุการณ์ที่คุณตรูนาดิสพาติสตูไปชมคุก ในสายตาของคุณตรูนาดิสแล้ว คุกคือสถานที่สำหรับกักขังคนไม่ดี ไม่ให้ออกไปสร้างความวุ่นวายในสังคม แต่สำหรับติสตูแล้วเขากลับถามออกไปว่า เราขังเขาไว้ที่นั่นเพื่อรักษาเขาให้หายจากการเป็นคนไม่ดีหรือครับ? (ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 63) และเมื่อคุณตรูนาดิส บอกเหตุผลที่ต้องมีเสี้ยมแหลมล้อมรอบคุก ก็เพื่อกันไม่ให้นักโทษหลบหนี ติสตูก็พูดว่า ถ้าคุกน่าเกลียดน้อยกว่านี้ บางทีนักโทษคงไม่อยากหนีเท่าไหร่นัก และ พวกเขาจะดีขึ้นโดยเร็ว ถ้าสถานที่ที่อยู่จะน่าเกลียดน้อยกว่านี้ (ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 63)
หรืออย่างในเหตุการณ์ที่คุณตรูนาดิสพาติสตูไปดูชุมชนแออัด เมื่อติสตูแสดงความเห็น ว่าความยากจนทำให้คนไม่มีความสุขและกลายเป็นคนใจร้าย รวมทั้งเขาไม่เห็นด้วยตามที่คุณตรูนาดิสบอกว่า การมีระเบียบจะต่อต้านความยากจนได้ คุณตรูนาดิสก็เขียนรายงานพฤติกรรมของติสตูว่า ...การเป็นคนใจดีเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ของเขาทำให้ขาดความรู้สึกแห่งความเป็นจริง (ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 86)
จะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างการมองปัญหาและหนทางจัดการแก้ไขมันของผู้ใหญ่และเด็ก ผู้ใหญ่แค่จัดการสิ่งที่ไม่ดีให้อยู่อย่างเป็นระเบียบและไม่เข้ามารบกวนสิ่งที่ดี แต่เด็กหวังจะแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นให้ดีขึ้น  อาจเป็นเพราะในสายตาของเด็กแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้
ติสตูสามารถเยียวยานักโทษและคนในชุมชนแออัดได้ง่ายเพียงจิ้มนิ้วหัวแม่มือลงในดิน เจ้าชายน้อยเอง ก็สามารถเดินทางจากดาวดวงหนึ่งไปอีกดวงหนึ่งได้ง่ายๆ หรือในเหตุการณ์ที่นักบินกำลังจะตายเพราะขาดน้ำอยู่กลางทะเลทราย เขาก็ไม่สนใจจะฟังเรื่องเล่าใดๆจากเจ้าชายน้อยอีกแล้ว เพราะเขาคิดว่าเขาไม่รอดแน่ แต่แม้น้ำจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับเจ้าชายน้อย เขาก็ชวนนักบินออกเดินเพื่อหาหนองน้ำ ซึ่งในตอนนั้นนักบินคิดว่า มันเป็นเรื่องเหลวไหลเหมือนกันที่ออกเดินหาหนองน้ำตามบุญตามกรรมกลางทะเลทรายแบบนี้ แต่ในเช้าวันรุ่งขึ้นพวกเขาก็เจอบ่อน้ำจริงๆทำให้นักบินรอดตายมาได้ เหตุการณ์นี้ยิ่งย้ำว่า เด็กยังไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปไม่ได้ และ มีความหวังเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กมีสายตาที่ต่างจากผู้ใหญ่
แต่เมื่อเติบโตขึ้น เราก็หลงลืมความรู้สึกเหล่านั้นทำให้สายตาที่เราใช้มองโลกเปลี่ยนไป อย่างในเหตุการณ์นี้ เมื่อนักบินได้เจอกับเจ้าชายน้อย เจ้าชายน้อยสามารถรู้ได้ทันทีที่เห็นรูปวาดของนักบินครั้งเขายังเป็นเด็กว่ามันคือ รูปงูเหลือมซึ่งกินช้างเข้าไป นั่นทำให้นักบินประหลาดใจไม่น้อย และต่อมาเจ้าชายน้อยก็ขอให้นักบินวาดรูปแกะให้เขา แต่วาดเท่าไหร่เจ้าชายน้อยก็ไม่พอใจสักที นักบินจึงวาดกล่องใบหนึ่งและพูดตัดรำคาญว่า แกะที่เจ้าชายน้อยต้องการอยู่ภายในนั้น ซึ่งคราวนี้เจ้าชายน้อยพอใจมาก และนั่นก็ทำให้นักบินคิดว่า
ฉันเองก็ออกจะเสียใจ ที่ไม่สามารถมองทะลุกล่องและเห็นลูกแกะได้ ฉันก็คงเหมือนกับพวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย ฉันคงจะแก่ตัวลงนั่นเอง (เจ้าชายน้อย. อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, หน้า 34) เมื่อนักบินกลายเป็นผู้ใหญ่ เขาเองก็ไม่มีสายตาที่เปี่ยมด้วยจินตนาการอีกแล้ว เขากลายเป็นผู้ใหญ่ทั่วๆไป
ในเมื่อผู้ใหญ่ทุกคน ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กมาก่อน เราย่อมเลือกได้ว่าจะโตขึ้นอย่างไร การโตขึ้นไม่ใช่สิ่งผิด แต่การโตขึ้นโดยหลงลืมความบริสุทธิ์ของวัยเด็กในตัวต่างหากที่เป็นเรื่องไม่ดี และแม้ทั้งติสตูและเจ้าชายน้อยจะมีมุมมองของเด็กที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องเรียนรู้อีกมากและต้องเติบโตขึ้น
ติสตูเองก็มีอุปนิสัยของเด็กที่ไม่เรียบร้อยอยู่เหมือนกันซึ่งจำเป็นต้องเลิกนิสัยเหล่านั้น เช่น การกระโดดรูดลงจากราวบันได หรือการถอดรองเท้าเตะอย่างไม่เป็นระเบียบ ส่วนเจ้าชายน้อยเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบความสัมพันธ์ ไม่ใช่หนีปัญหามา อย่างที่เขาทิ้งดอกกุหลาบของเขามา
สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มันจะต้องเกิดขึ้นคือ การเติบโต ซึ่งในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องแม้จะเล่าถึงมุมมองที่ดีของเด็ก และมุมมองที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้ใหญ่ แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ที่สามารถตีความได้ว่าคือการสละวัยเด็ก และ เติบโตขึ้น
สำหรับติสตู คือเหตุการณ์ที่เขาปลูกต้นไม้เป็นบันไดสูงไปถึงสวรรค์ และค่อย ๆ ปีนขึ้นไปเรื่อย ๆ จนหายลับตาไป มันหมายถึงเขาได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งสามารถตีความการตายนี้ได้ว่า คือการละทิ้งวัยเด็ก เพราะในความเป็นจริง ทัศนคติการมองโลกแบบเด็ก ๆ ของติสตูไม่สามารถอยู่บนโลกของผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นเพื่อจะรักษามุมอง, ความคิด และความรู้สึกที่ขาวสะอาดให้ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน ติสตูจึงต้องจากไปอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกับเขาซึ่งก็คือ บนสรวงสวรรค์นั่นเอง เหมือนอย่างที่เจ้ายิมนาสติคม้าของติสตูได้เล็มหญ้าเป็นข้อความที่ใต้บันไดนั้นไว้ว่า ติสตูคือเทวดาองค์น้อย (ติสตู นักปลูกต้นไม้.  โมรีส ดรูอง, หน้า 165)
สำหรับเจ้าชายน้อย เมื่อเขาได้เรียนรู้การรับผิดชอบความสัมพันธ์แล้วนั้น เขาจึงได้รับความช่วยเหลือจากงู
ในครั้งแรกที่เจ้าชายน้อยพบกับงูบนโลกมนุษย์ มันบอกกับเจ้าชายน้อยว่า พิษของมันสามารถคืนคนแด่ที่ซึ่งพวกเขาเกิดมาได้ ครั้งนี้งูจึงช่วยให้เจ้าชายกลับคืนสู่ดาวบีหกสองหนึ่ง เหตุการณ์นี้คือ การตายของเจ้าชายน้อยนั่นเอง แต่การตายในครั้งนี้ตีความได้ว่า คือการละทิ้งวัยเด็กที่ยังอ่อนหัดเกินจะรู้จักรัก และเมื่อตอนนี้เจ้าชายน้อยรู้จักมันแล้ว เขาจึงต้องกลับไปหาดอกกุหลาบเพื่อรับผิดชอบความสัมพันธ์ที่พวกเขาสร้างขึ้น จะเห็นได้ว่าวรรณกรรมทั้งสองยังคงบอกเล่าการละทิ้งวัยเด็ก เพราะมันคือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็เลือกวิธีเล่าที่จะรักษาภาพของเด็กน้อยที่แสนบริสุทธิ์ ให้ยังอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน
            จากวรรณกรรมติสตู นักปลูกต้นไม้ และ วรรณกรรมเจ้าชายน้อย ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า มุมมองที่ยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิม ๆ ของผู้ใหญ่นั้นก็มีจุดบอด และมุมมองของเด็ก ๆ ที่อาจจะดูไร้สาระก็มีแง่มุมที่น่าเก็บมาคิด ดังนั้นในเมื่อทุกคนต้องโตขึ้น ก็จงอย่าเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไปที่มีแต่ความคิดสำเร็จรูป จนหลงลืมไปแล้วว่าเราเคยตั้งใจจะทำอะไร หรือสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่จงเติบโตขึ้นโดยรักษาสายตาของวัยเด็กที่บริสุทธิ์, เปี่ยมด้วยความหวัง, จิตนาการ, ความเอื้อเฝื้อ และอื่นๆอีกมากมายเท่าที่เราจะจำความรู้สึกได้ไว้ เพื่อที่เราจะได้รู้สึกถึงโลกแห่งความจริงไปพร้อมๆกับยังคงมีความหวัง และมีความกระตือรืนร้นที่จะปฏิบัติสิ่งต่างๆให้เกิดประโยชน์กับโลก และเราหากทำได้อย่างนั้นเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้นในโลกของผู้ใหญ่โดยไม่ต้องมีนิ้วหัวแม่มือสีเขียว หรือต้องมาจากดาวดวงอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น